ประเพณีการขอขมาคารวะ
มีธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์อย่างหนึ่งในเทศกาลเข้าพรรษา คือพระสงฆ์จะไปกราบขอขมาคารวะต่อพระเถระ ที่อาจจะพลั้งเผลอล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ ในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกเวลาหากมีความประมาท ก่อนอธิษฐานเข้าพรรษาจึงมีธรรมเนียมปฏิบัติ คือการกราบขอขมาคารวะต่อพระรัตนตรัย จากนั้นก็จะมากราบขอขมาคารวะต่อพระเถระในอารามที่พระสงฆ์จะอยู่จำพรรษา หลังเข้าพรรษาก็จะนิยมเดินทางไปกราบขอขมาคารวะต่อพระเถระทั้งหลายตามวัดต่างๆ ขอให้ท่านอดโทษ ยกโทษให้ ดังนั้น หลังวันเข้าพรรษาตามอารามต่างๆ ที่มีพระเถระผู้มีตำแหน่งในการผู้ปกครองคณะสงฆ์อยู่ จึงมีพระภิกษุสามเณรจากวัดต่างๆ เดินทางมากราบขอขมาคารวะต่อพระเถระ ณ อารามทั้งหลาย
สำหรับธรรมเนียมการกราบขอขมาคารวะ หรือบางครั้งเรียกว่า “ทำวัตร” ของพระวัดป่าปฏิบัติสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นั้น นิยมกระทำกันในช่วงก่อนหรือระหว่างเข้าพรรษา (และช่วงเวลาอื่นๆ ตามโอกาสอันเหมาะสมด้วย) ปกติก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา พระภิกษุสามเณรจากหลายวัดที่อยู่ใกล้เคียงกันมักจะมารวมตัวกันที่วัดใดวัดหนึ่งในเขตพื้นที่นั้น ซึ่งเป็นวัดที่มีพระเถระผู้มีอายุพรรษามากและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่เคารพเลื่อมใสในหมู่พระภิกษุสามเณร เพื่อกราบขอขมาคารวะและรับฟังโอวาทธรรม อันเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และยังเป็นการกระตุ้นเตือนจิตใจให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมกำจัดกิเลสในช่วงฤดูเข้าพรรษาอย่างเต็มที่
ธรรมเนียมการกราบขอขมาคารวะและรับฟังโอวาทธรรมนี้ ไม่เพียงแต่จะทำกันในช่วงก่อนเข้าพรรษาอย่างเดียว ในช่วงระหว่างเข้าพรรษา ๓ เดือน พระภิกษุสามเณรท่านก็นิยมที่จะเดินทางไปกราบขอขมาคารวะต่อพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพื้นที่อื่น ซึ่งอาจจะไกลจากวัดที่จำพรรษาด้วย โดยมักจะเดินทางไปเป็นขบวนใหญ่ ทั้งพระภิกษุสามเณรและฆราวาสญาติโยม เพื่อให้ได้มีโอกาสทำบุญและฟังธรรมกับพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยกัน โดยเมื่อเดินทางไปถึงวัดเป้าหมาย หมู่คณะที่เดินทางไปทั้งหมดก็จะได้รับการต้อนรับให้พักผ่อนเสียก่อน
เมื่อพร้อมแล้ว พระผู้เป็นผู้นำหมู่คณะจะถือพานดอกไม้ธูปเทียนนำขอขมาคารวะ โดยการกราบ ๓ ครั้ง และนำกล่าว “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” ๓ จบก่อน
จากนั้นจะนำกล่าวคำขอขมาคารวะเป็นภาษาบาลีว่า
“มหาเถเร ปะมาเทนะ, ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต” (กล่าว ๓ ครั้ง)
แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า : “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระเถระจงอดโทษซึ่งความผิดทั้งปวงที่พวกข้าพเจ้าได้กระทำล่วงเกินด้วยความประมาทในพระเถระ ด้วยไตรทวาร”
เสร็จแล้วผู้ขอขมาทั้งหมดจะหมอบกราบลงกับพื้นโดยยังไม่เงยหน้าขึ้น พระเถระผู้รับขมาจะกล่าวคำว่า
“อะหัง ขะมามิ ตุมเหหิปิ ขะมิตัพพัง”
แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า : “ข้าพเจ้ายกโทษให้ และขอให้พวกท่านพึงยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าด้วย”
ผู้ขอขมาทั้งหมดจะกล่าวรับว่า “ขะมามะ ภันเต”
จากนั้นพระเถระผู้รับขมาจะกล่าวให้พร เมื่อจบแล้ว ผู้ขอขมาทั้งหมดจะกล่าวรับพรว่า “สาธุ ภันเต” แล้วจึงเงยหน้าขึ้นจากพื้น และกราบอีก ๓ ครั้ง ก็เป็นอันว่าเสร็จพิธี จากนั้นก็อาจจะมีการแสดงพระธรรมเทศนาต่อไป ในการกล่าวคำขอขมาคารวะนั้น ถ้าผู้รับขมาเป็นพระมหาเถระผู้มีอาวุโสมาก ให้ใช้คำว่า “มหาเถเร” มีอาวุโสรองจากนั้นให้ใช้คำว่า “เถเร” แทน หรือถ้ามีอาวุโสรองลงมาอีกให้ใช้คำว่า “อาจริเย” แทน ซึ่งผู้ขอขมาควรจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบุคคลผู้รับขมา
สำหรับพระเถระผู้รับขมาที่กล่าวให้พรนั้น ก็จะให้พรในทำนองว่าสิ่งที่ทำผิดมาแล้วก็ขอให้แล้วไป ให้กลับตัวกลับใจเสียใหม่เริ่มต้นกันใหม่ ภาษิตที่นิยมนำมาแสดงมาจาก อังคุลิมาลสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (๑๓/๕๓๔/๓๙๖) ความว่า ครั้งหนึ่งพระองคุลิมาลไปในที่ลับเร้นอยู่ เสวยวิมุติสุข ได้เปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
โย จ ปุพฺเพ ปมชฺชิตฺวา ปจฺฉา โส นปฺปมชฺชติ
โสมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภามุตฺโตว จนฺทิมา
ยสฺส ปาปํ กตํ กมฺมํ กุสเลน ปหียติ
โสมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภามุตฺโตว จนฺทิมาฯ
แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า : “ก็ผู้ใด เมื่อก่อนประมาท ภายหลังผู้นั้นไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดังพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆฉะนั้น ผู้ใดทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสียได้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ”
|